เครื่องมือในการแก้ปัญหา
             

  

       ผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะต้องเลือก ภาษาคอมพิวเตอร์ ที่จะต้องนำมาใช้ช่วยงาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ในการทำงาน ภาษาคอมพิวเตอร์ หมายถึง สื่อกลางที่ผู้เขียนโปรแกรม สามารถใช้ติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดการทำงานตามวัตถุประสงค์ การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับต่ำ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์และระบบเลขฐานสอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ถึงแม้ว่า จะมีการกำหนดรหัสหรือสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจหรือจำได้ง่ายขึ้น แต่ก็คงยังมีความยุ่งยากในการจดจำ จึงมีความพยายามในการออกแบบ ภาษาระดับสูงสำหรับคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานสามารถจดจำได้ง่าย และเขียนโปรแกรมได้สะดวก เพราะไม่ต้องเรียนรู้การทำงานภายในหน่วย ประมวลผลกลางของเครื่องฯ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องระบบเลขฐานสอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

       1) การแก้ปัญหากับภาษาปาสคาล
           โครงสร้างของโปรแกรมภาษาปาสคาล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนประกาศ (Declaration Part) และส่วนคำสั่ง (Statement Part) ให้พิจารณาตัวอย่างโปรแกรมแสดงวิธีการหาค่าเฉลี่ยของจำนวนเต็ม 5 จำนวน ดังรูป


      จากตัวอย่าง จะเห็นว่าภาษาปาสคาลแบ่งโปรแกรมออกเป็น 2 ส่วน
      ส่วนแรก คือ บริเวณที่มีการแรเงา (ดังรูปตัวอย่าง) ส่วนนี้เรียกว่า ส่วนประกาศ เป็นส่วนที่มีการประกาศชื่อโปรแกรมตัวแปรและข้อมูล ต่าง ๆ ที่ใช้งานในโปรแกรมนี้
      ส่วนที่สอง เรียกว่า ส่วนโปรแกรม ได้แก่ คำสั่งที่อยู่ภายในคำสั่ง begin และ end ในการเขียนโปรแกรมภาษาปาสคาล เมื่อผู้เขียน ต้องการจบโปรแกรม ต้องเติมเครื่องหมาย "." เพื่อจบการทำงานของโปรแกรมเสมอ

       2) คำสั่งในภาษาปาสคาล
           คำสั่ง คือ ส่วนของข้อความที่อยู่ในส่วนโปรแกรม แต่ละคำสั่งจะควบคุมให้เครื่องคอมพิวเตอร์กระทำการ 1 อย่าง เมื่อคำสั่งหลาย ๆ คำสั่งรวมกัน จะเป็นชุดคำสั่งที่ควบคุมให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือแก้ปัญหาได้ตามที่เราต้องการ โครงสร้างของภาษาปาสคาล แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ
          1. คำสั่งกำหนดค่า (Assignment Statement) เป็นคำสั่งที่ใช้ในการกำหนดค่าให้กับตัวแปร ดังรูปที่ 1
          2. คำสั่งนำข้อมูลออก (Output Statement) เป็นคำสั่งให้แสดงผลลัพธ์ หรือข้อความที่ต้องการออกทางอุปกรณ์ส่งออก เช่น เครื่องพิมพ์ จอภาพ ดังรูปที่ 1
          3. คำสั่งนำเข้าข้อมูล (Input Statement) เป็นคำสั่งที่สั่งให้นำข้อมูลจากอุปกรณ์รับเข้า ซี่งอาจเป็นแผงแป้นอักขระ เข้าสู่หน่วยความจำของ คอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บในตัวแปรที่มีการประกาศในส่วนประกาศ ดังรูปที่1
          4. คำสั่งควบคุมลำดับการทำงานของโปรแกรม (Control Statement) เป็นการควบคุมเกี่ยวกับการทำงานตามเงื่อนไข และการทำงาน แบบทำซ้ำ ตามที่ได้ออกแบบไว้
          อธิบายการใช้คำสั่งในตัวอย่างรูปที่ 1 ดังนี้
          - มีการใช้คำสั่งกำหนดค่า เพื่อกำหนดค่าเริ่มต้นให้กับตัวแปร ชื่อ sum และ N นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดให้มีการคำนวณค่าของ ตัวแปร average ด้วย
          - บริเวณที่เป็นตัวหนา คือส่วนที่ใช้โครงสร้างควบคุมแบบทำซ้ำ ที่มีการตรวจสอบเงื่อนไขก่อนกระทำการแต่ละครั้ง
          - ภายในโครงสร้างแบบทำซ้ำ มีคำสั่ง 4 คำสั่ง จึงต้องกำหนดขอบเขตการทำซ้ำโดยคำสั่ง begin และ end; โปรแกรมจะทำงานซ้ำใน ขอบเขตนี้ จนกว่าเงื่อนไขในการทำซ้ำจะเป็นเท็จ นั่นคือตัวแปร N ได้รับการเพิ่มค่าจนมีค่ามากกว่า 5
          - นำค่า sum คือผลรวมของจำนวนทั้ง 5 จำนวน มาหารด้วยจำนวนของข้อมูลเข้าซึ่งก็คือ 5 แล้วนำค่าผลลัพธ์ที่เก็บตัวแปรชื่อ average แสดงผลทางจอภาพ ด้วยคำสั่งนำข้อมูลออก

        3) ส่วนอธิบายโปรแกรม
            หากผู้พัฒนาโปรแกรม ต้องการพิมพ์ข้อความเพื่ออธิบายการทำงานของโปรแกรมไว้ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขในภายหลัง ก็สามารถทำได้ โดยการใส่เครื่องหมายที่ทำหน้าที่ซ่อนข้อความหลังเครื่องหมายนั้น เช่น (*Declaration part*) ในรูปที่ 1 ตัวแปรภาษาจะข้าม ข้อความเหล่านั้นไป