เมนูกิจกรรม 1 2 3 4
ตัวอย่างภาพยนตร์สั้น
แว้นลูกป้อจาย ผะหย๋าของป้อ ปลายรัก
ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์สั้น
 การผลิตภาพยนตร์สั้น มีขั้นตอนการผลิตอยู่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมการผลิต (Pre - Production) ขั้นตอนการผลิต (Production) และขั้นตอนหลังการผลิต (Post - Production) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ขั้นตอนการเตรียมการผลิต (Pre - Production) เป็นขั้นตอนแรกของการผลิตภาพยนตร์สั้น เมื่อเราได้หัวข้อเรื่องที่ ต้องการ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การศึกษาค้นคว้าข้อมูล ต้องกำหนดว่า ภาพยนตร์สั้นที่จะผลิตเป็นภาพยนตร์ประเภทใด มีการ เล่าเหตุการณ์ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร พระเอก นางเอกมีนิสัยอย่างไร ต้องการอะไร เพื่อนำมาเขียน บทภาพยนตร์ และมีการวางแผนการถ่ายทำเพื่อให้ดำเนินงานไปได้ด้วยดี ดังนั้น การวางแผนถ่ายทำต้องละเอียด รอบคอบ รัดกุม จึงจะทำให้งานราบรื่น โดยมีส่วนสำคัญที่ต้องเตรียมในการผลิตภาพยนตร์สั้น ดังนี้ 1.1 การจัดหาบทภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ อาจมีหลายแบบ เช่น บทภาพยนตร์แบบสมบูรณ์ บทภาพยนตร์แบบกึ่งสมบูรณ์ และบทภาพยนตร์ แบบเปิด เป็นต้น ซึ่งจะเลือกใช้บทภาพยนตร์แบบไหนนั้น แล้วแต่ความต้องการของผู้กำกับ โดยนักเรียนสามารถศึกษา เพิ่มเติมได้ที่ กิจกรรมที่ 2 เรื่อง บทภาพยนตร์ และตัวอย่างบทภาพยนตร์ด้านล่าง ตัวอย่างบทภาพยนตร์ เรื่อง ผะหย๋าของป้อ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- SCENE 2 เวลา 10 วินาที ตัวละคร โทนี่ ต้น ภายนอก. – ทางเดินในโรงเรียน – กลางวัน เหตุการณ์ โทนี่วิ่งตามต้นมาถามเรื่องผะหย๋าของป้อแต่ต้นไม่สนใจแล้วเดินออกไป ภาพเสาธง ตัดมาหาต้นและโทนี่วิ่งเข้ามาหาต้น MLS ถ่ายจากด้านหน้าต้น โทนี่วิ่งตามต้นมาจากข้างหลัง โทนี่ เฮ้ต้น เฮ้! MS หน้าต้นจากด้านข้าง ต้นหันไปมองโทนี่ ต้นเหลียวมองโทนี่ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร โทนี่ What ผะหย๋าของป้อ? MLS ถ่ายจากด้านหน้าต้น โทนี่เกาะไหล่ต้นแล้วเดินออกไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 1.2 การจัดหาทีมงาน ในการจัดทำภาพยนตร์สั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ทีมงานมากเหมือนการผลิตภาพยนตร์บันเทิงต่างๆ โดย ภาพยนตร์สั้น สามารถผลิตได้ด้วยทีมงานไม่มากนัก ทีมงานหนึ่งคน อาจทำได้หลายตำแหน่ง เช่น ผู้กำกับอาจทำหน้าที่เป็น ผู้เขียนบท และช่างภาพอาจเป็นผู้ตัดต่อด้วย เป็นต้น ถ้าหากเป็นภาพยนตร์สั้น ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก อาจใช้ทีมงาน เพียงแค่คนเดียวทำหน้าที่ทุกอย่างได้ 1.3 การคัดเลือกนักแสดง นักแสดง (Actor) หรือตัวละคร (Character) มีหน้าที่ดำเนินเหตุการณ์ จากจุดเริ่มต้น ไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่อง ตัวละคร อาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นนามธรรมก็ได้ ตัวละครที่สร้างขึ้นมาอาจมีหลายตัวละคร เช่น ตัวแสดงนำ ตัวแสดงสมทบ หรือตัวแสดงประกอบ ตัวละครทุกตัวจะต้องมีอิทธิพลต่อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การคัดเลือกนักแสดง ควรเลือกนักแสดงที่มีลักษณะนิสัยคล้ายกับตัวละครในเรื่อง หรือนักแสดงที่มีความสามารถ ในการแสดง (Acting) ดี เพื่อจะได้ง่ายต่อการถ่ายทำในแต่ละฉาก 1.4 การจัดหาสถานที่ถ่ายทำ สถานที่ถ่ายทำในภาพยนตร์สั้น ควรเลือกสถานที่ที่สามารถเข้าไปถ่ายได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะ ภาพยนตร์สั้น อาจไม่มีงบมากเหมือนภาพยนตร์บันเทิงทั่วไป และควรเลือกถ่ายทำให้เหมาะสม เช่น สถานที่มีคนพลุกพล่าน หรือรถวิ่งผ่าน อาจจะทำให้มีเสียงรบกวนเข้ามาแทรกขณะถ่ายทำ 1.5 การเตรียมวัสดุ - อุปกรณ์ ก่อนเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์สั้น ทีมงานต้องตรวจสอบ และเตรียมวัสดุ - อุปกรณ์ทุกครั้ง เช่น ก่อนเริ่มถ่ายทำ ช่างภาพ ต้องชาร์จแบตเตอรี่กล้องให้พร้อม หรือหากต้องมีการถ่ายทำในเวลากลางคืน ควรเตรียมไฟวิดีโอไปด้วย เป็นต้น การเตรียมวัสดุ - อุปกรณ์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากต้องเดินทางไปถ่ายทำที่ไกลๆ แล้วอุปกรณ์ที่เตรียมมา ไม่พร้อมใช้งาน ก็จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้การถ่ายทำติดขัด หรืออาจไม่สามารถถ่ายทำได้เลย นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุให้เสีย งบประมาณ และเสียเวลาในการทำงาน 1.6 การจัดตารางเวลาถ่ายทำ/วางแผนการถ่ายทำ การจัดตารางเวลาถ่ายทำ เป็นการวางแผนว่าการถ่ายทำในวันนั้นๆ จะถ่ายฉากไหนบ้าง เวลาใด ฉากละกี่นาที สถานที่ใด กลางวัน หรือกลางคืน โดยทีมงานทุกคนควรประชุม และวางแผนร่วมกัน ก่อนถ่ายทำจริงทุกครั้ง เพราะเป็นการกำหนดเวลาถ่ายทำล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อให้ทีมงานได้รู้เป้าหมายในการทำงาน และใช้เวลาอย่างคุ้มค่า 2. ขั้นตอนการผลิต (Production) เป็นขั้นตอนการถ่ายทำ ที่มีการบันทึกภาพและเสียงตามบทภาพยนตร์ที่เขียนไว้ อาจมีการเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีการสัมภาษณ์ จัดฉากจัดสถานที่ภายนอกหรือในสตูดิโอ โดยผู้กำกับควรศึกษาบทอย่างละเอียดก่อนเริ่มถ่ายทำ เพื่อจะได้ถ่ายทอดบทภาพยนตร์ให้กับผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ เราสามารถสังเกตได้ว่า ภาพยนตร์ต่างๆ ในหนึ่งฉากมักนำเสนอด้วยมุมกล้องหลายมุม เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์ดูน่าเบื่อ เพราะ ภาพอยู่เพียงมุมเดียว ดังนั้น การถ่ายทำแต่ละครั้ง จึงอาจใช้ช่างภาพหลายคน เพื่อประหยัดเวลาในการถ่ายทำ หรือถ้าหาก มีช่างภาพเพียงคนเดียว ก็สามารถใช้วิธีการถ่ายซ้ำฉากเดิมอีกครั้ง แต่เปลี่ยนมุมกล้องให้แตกต่างออกไป ซึ่งช่างภาพต้องเป็น ผู้มีความรู้เกี่ยวกับ เรื่องขนาดภาพและมุมกล้องสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์สั้นเป็นอย่างดี เพื่อให้คลิปที่ได้สามารถนำไปตัดต่อ ได้อย่างลงตัว ขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายทำแก้ไขหลายครั้งจนเป็นที่พอใจ (take) นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องเก็บภาพและ เสียงบรรยากาศทั่วไป รวมถึงภาพเฉพาะมุมเพิ่มเติมไว้ใช้ในการขยายความ (insert) เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นและเข้าใจ รายละเอียดมากยิ่งขึ้น บทบาทผู้กำกับต้องชัดเจนและเตรียมทีมให้พร้อม 3. ขั้นตอนหลังการผลิต (Post - Production) เป็นขั้นตอนการนำวิดีโอต้นฉบับที่ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาผสม รวมกับภาพ เสียง และกราฟิก โดยเรียงลำดับให้เป็นเรื่องราวตามบทภาพยนตร์ที่กำหนดไว้ ให้มีความน่าสนใจและชวนให้ ผู้ชมติดตาม ขั้นตอนนี้จะมีการใส่กราฟิก ทำเทคนิคตกแต่งภาพ การย้อมสี การเชื่อมต่อภาพให้เข้ากับฉาก รวมถึงอาจมี การบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงเพิ่มเติม ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่จะดำเนินการอยู่ในห้องตัดต่อ โดยผู้ตัดต่อควรศึกษาและหา วิธีการตัดต่อรูปแบบใหม่ๆ สำหรับตัดต่อภาพยนตร์สั้น รวมถึงผู้ตัดต่อยังต้องรู้จัก การเลือกใช้เสียงประกอบให้สอดคล้อง กับบทภาพยนตร์และแนวของภาพยนตร์ เพื่อให้ภาพยนตร์สั้นผลิตออกมาได้อย่างสมบูรณ์ สร้างสรรค์ และน่าติดตามรับชม องค์ประกอบของขั้นการหลังการผลิต (Post-Production) มีดังนี้ 3.1 การลำดับภาพหรือการตัดต่อ (Editing) เป็นการนำภาพมาตัดต่อให้เป็นเรื่องราวตามบทวีดิทัศน์ โดยใช้เครื่องตัดต่อ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการตัดต่อนี้มี 2 ลักษณะ คือ 1) Linear Editing เป็นการตัดต่อระหว่างเครื่องเล่น/บันทึกวีดิทัศน์ 2 เครื่อง โดยให้เครื่องหนึ่งเป็นเครื่องต้นฉบับ (Master) และอีกเครื่องหนึ่งเป็นเครื่องบันทึก (Record) ไม่สามารถตัดต่อแบบข้ามจุดได้ ต้องตัดตั้งต้นไปจนจบเท่านั้น ในปัจจุบันไมนิยมใช้แล้ว เนื่องจากการตัดต่อลักษณะนี้ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และใช้เวลานานมาก 2) Non-Linear Editing เป็นการติดต่อโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะ นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะเป็นการตัดต่อที่รวดเร็ว สามารถตัดต่อจุดใดหรือช่วงใดออกก็ได้ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด 3.2 การบันทึกเสียง (Sound Recording) จะกระทำหลังจากได้ดำเนินการตัดต่อภาพตามบทภาพยนตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำการบันทึกเสียงดนตรี เสียงบรรยาย และเสียงประกอบที่ต้องการลงไป 3.3 การฉายเพื่อตรวจสอบ (Preview) หลังจากตัดต่อภาพ และบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ภาพยนตร์จะต้อง นำมาฉายเพื่อตรวจสอบก่อนว่ามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ 3.4 ประเมินผล (Evaluation) เป็นการประเมินรายการหลังการผลิต ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ 1) ประเมินผลกระบวนการผลิต โดยจะเป็นการประเมินด้านความถูกต้องของเนื้อหาคุณภาพของ เทคนิคการนำเสนอ ความสมบูรณ์ของเทคนิคการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ผู้เขียนบท ผู้กำกับรายการ และทีมงานการผลิต 2) การประเมินผลผลิต เป็นการประเมินโดยผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก โดยจะประเมิน ในด้านของความน่าสนใจ ความเข้าใจในเนื้อหา และสาระที่นำเสนอ 3) การเผยแพร่ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ และควรเก็บข้อมูล รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้ชม เพื่อนำมาแก้ไขต่อไป
 ขั้นตอนทุกขั้นตอนในการผลิตภาพยนตร์สั้นล้วนแต่มีความสำคัญ ดังนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน การเตรียมการผลิต การถ่ายทำ การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต และการลำดับภาพและเสียง รวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของทีมงานอยู่เสมอ หากผู้ผลิตให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอนก็จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ออกมามีคุณภาพและประสบความสำเร็จตามที่ผู้ผลิตคาดหวังได้อย่างแน่นอน
 Copyright @ 2017-2018. by KruNatcha, All rights reserved.