8.6 ทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ


          ทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ ( information superhighway) เป็นชื่อที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัลกอร์ (Al Gore)
ใช้ในการประชาสัมพันธ์หาเสียงเลือกตั้ง ปี 2544 โดยเน้นว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องสร้างทางด่วนข้อมูลสารสนเทศให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว
ทางด่วนในความหมายนี้คือเส้นทางที่ให้ข้อมูลข่าวสารวิ่งไปได้มากและรวดเร็ว สามารถรองรับการส่งสัญญาณข้อมูลข่าวสารทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุ
คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรืองานประยุกต์อื่นๆ ได้มาก โดยมีความต้องการให้สถานีโทรทัศน์มากกว่า 500 แห่งและสถานีวิทยุมากกว่า 1,000 แห่ง
ส่งกระจายสัญญาณไปในทางด่วนสารสนเทศ ระบบข้อมูลข่าวสารที่ส่งนี้เป็นแบบปฏิสัมพันธ์ (interactive) กล่าวคือสามารถโต้ตอบซึ่งกันและกันหรือมีส่วนร่วมได้



         ลักษณะของทางด่วนสารสนเทศเหมือนกับระบบถนนที่มีถนนสายหลัก สายรอง ซอยเชื่อมเข้าสู่บ้านเรือน โดยใช้เส้นใยนำแสงเป็นสายหลัก
และใช้สื่ออื่นประกอบ เช่น คลื่นไมโครเวฟ ช่องสัญญาณสื่อสารผ่านดาวเทียม เส้นลวดทองแดง สายสัญญาณที่ต่อเชื่อมเข้าบ้านเรือน ร้านค้า
หรือสำนักงานจะเป็นสายสัญญาณที่รองรับข้อมูลจำนวนมากได้

           หากทางด่วนสารสนเทศเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จะมีการประยุกต์ใช้งานบนเส้นทางด่วนมากมาย การพัฒนางานประยุกต์เป็นไปได้มาก และมีรูปธรรมที่เด่นชัด ดังนี้


ระบบโทรทัศน์ (television on demand)

           มีการส่งกระจายสัญญาณโทรทัศน์ไปในเครือข่ายเพื่อให้บริการแก่ผู้ชมที่บ้าน ระบบทีวีสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ชมเลือกชมรายการ
ตามต้องการได้ทุกขณะเวลา บางรายการเป็นการให้ผู้ชมทางบ้านโต้ตอบหรือมีส่วนร่วมด้วย เช่น รายการเกมโชว์ รายการตอบคำถาม


ระบบวิทยุ (radio on demand)

            มีการส่งกระจายข่าวสารทางเสียงไปยังทางด่วนสารสนเทศที่ผู้ฟังทางบ้านเลือกฟังได้ สัญญาณที่ส่งเป็นสัญญาณดิจิทัลจึงมีคุณภาพดี และยังเสริมบริการ
ต่างๆ เข้าไปได้มาก เช่น ให้ผู้ฟังฝึกร้องเพลง หรือที่เรียกว่า คาราโอเกะ ให้ผู้ฟังโต้ตอบในรายการตอบปัญหา ตลอดจนมีรายการสดที่รับปรึกษาปัญหาต่างๆ


การประชุมทางวีดิทัศน์ (video conference)

              เป็นพัฒนาการจากระบบโทรศัพท์ที่มีแต่เสียง แต่เมื่อช่องสัญญาณขยายใหญ่ขึ้นมากก็มีระบบพูดคุยผ่านทางด่วนสารสนเทศที่เห็นภาพ และมองเห็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวคู่สนทนา ทำให้เสมือนอยู่ใกล้กัน สามารถนำมาประยุกต์ในเรื่องการประชุมจากที่ห่างไกลได้


โทรศึกษาและโทรเวช (tele-education and tele-medicine)

            เมื่อทางด่วนข้อมูลข่าวสารดีขึ้น ระบบการทำงานระยะไกลก็ทำได้ดี ในสถาบันการศึกษาอาจให้บริการการเรียนการสอนในที่ห่างไกลที่เรียกว่า
โทรศึกษา ผู้เรียนอยู่ที่ใดก็สามารถเลือกเรียนวิชาได้ตามต้องการ นอกจากนั้นในทางการแพทย์ ผู้ป่วยในที่ห่างไกลก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หรือส่งข้อมูลเพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่เรียกว่าโทรเวช


ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic commerce)
 

           การเลือกซื้อทางไกลเป็นหนทางหนึ่งที่ร้านค้าสามารถให้บริการโดยนำรายการสินค้า รูปภาพ หรือถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลได้เห็นสินค้า
ที่เรียกว่าระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อ เลือกชมสินค้าที่พอใจโดยสามารถเปรียบเทียบคุณภาพและราคาจากร้านจำนวนมากจน
เป็นพอใจแล้วจึงสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


ตัวอย่างการเลือกซื้อทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต


ห้องสมุดเสมือน (virtual library)
 

           ผู้ใช้บริการห้องสมุดสามารถค้นหาเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ตนต้องการ โดยเรียกค้นผ่านเครือข่ายที่มีทางด่วนสารสนเทศเป็นตัวเชื่อม ระบบการเรียกค้นข้อมูลนี้ทำให้เกิดความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และได้รับข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับความต้องการในเวลาอันรวดเร็ว


ระบบการพิมพ์หรือการบริการหนังสือพิมพ์บนเครือข่าย (online printing service)
 

          สำนักพิมพ์หรือสำนักข่าวต่างๆ เป็นผู้รวบรวมข่าว มีนักข่าวอยู่ทั่วทุกมุมโลก เมื่อได้ข่าวสารก็ส่งข่าวสารมาที่สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จัดการข่าวสารโดย
พิมพ์ไว้ในรูปข้อมูลที่ให้ผู้เป็นสมาชิกเรียกดูได้เสมือนการบอกรับหนังสือพิมพ์ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการพิมพ์ดีขึ้นมากจนเครื่องถ่ายเอกสาร
สมัยใหม่สามารถรับข้อมูลมาพิมพ์ได้โดยตรง ดังนั้นสำนักพิมพ์อาจมีจุดขายหนังสือพิมพ์ที่เชื่อมต่อกับสำนักพิมพ์ เมื่อผู้ซื้อต้องการหนังสือพิมพ์
ก็เพียงแต่หยอดเหรียญตามต้องการ เครื่องจะดึงข้อมูลจากสำนักพิมพ์มาพิมพ์ให้โดยทันที ข้อมูลข่าวสารที่ได้จะใหม่เสมอ