2 4 3 1 เมนูกิจกรรม
ตัวอย่างบทภาพยนตร์
คลังสื่อการเรียนรู้
ขนาดภาพและมุมกล้อง
การสร้างสรรค์บทภาพยนตร์  การเขียนบทภาพยนตร์อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำยากและท้าทายสำหรับนักเขียนทุกคน เพราะในปัจจุบันมีภาพยนตร์ มากมายที่ถูกเผยแพร่สู่สังคม แต่คงมีภาพยนตร์เพียงบางเรื่อง ที่ผู้ชมให้การยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดี สนุกและน่าติดตาม อยู่เสมอ อาจเป็นเพราะบทภาพยนตร์ที่ถูกเขียนขึ้นยังไม่สามารถดึงดูดใจผู้ชมมากเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าหากนักเขียนต้องการ สร้างภาพยนตร์ที่ผู้ชมเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง ตรึงใจ ต้องเริ่มจากการเขียนบทที่ดีก่อน โดยสามารถศึกษาเกี่ยวกับ การสร้างสรรค์ สู่การเขียนบท ได้ในชุดกิจกรรมนี้ โดยครูได้นำเทคนิค วิธีการ ประสบการณ์ในการถ่ายทำหนังสั้น มาถ่ายทอดให้กับนักเรียน ดังนี้
 1. ฝึกสังเกตเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากนักเขียนยังนึกหัวข้อเรื่อง ว่าต้องการเขียนภาพยนตร์ เกี่ยวกับอะไรไม่ได้หรือยังไม่มีแก่นเรื่องใดเลย ให้ลองสังเกต เรื่องราวหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ของเราอาจมีหลากหลายเรื่องที่พบเจอ คงมีสักหนึ่งเหตุการณ์ ที่เราประทับใจหรือชื่นชอบ จนสามารถหยิบขึ้นมาเพื่อทำเป็น ภาพยนตร์สั้นของเราได้ เช่น เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ คดีฆาตกรรม บางทีอาจลองคิดเล่นๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าฆาตกรต่อเนื่องคือแม่ครัวสาวแสนสวยและอ่อนโยน เป็นต้น
 2. จับประเด็นที่ตรงจุดกับหัวข้อที่กำหนดมากที่สุด นักเขียนต้องศึกษาหาข้อมูล และจับประเด็นที่ตรงจุดกับ หัวข้อที่กำหนดมากที่สุด แล้วนำมาแตกเป็นบทภาพยนตร์ หรือถ้าหากภาพยนตร์ของเราถูกกำหนดด้วยเวลาที่มากพอ ก็อาจ สามารถนำประเด็นที่ตรงจุดรองลงมาหรือหลายๆ ประเด็นที่สำคัญเข้ามาเสริมได้ เช่น กำหนดหัวข้อที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปัญหาหมอกควัน นักเขียนบทก็ต้องเริ่มสืบค้นข้อมูลจนทราบว่าสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันมากที่สุด คือ การเกิดไฟป่า ซึ่งการเกิดไฟป่าจึงเป็นประเด็นหลักที่เราควรนำมาเป็นเนื้อเรื่องหลัก แต่ด้วยความยาวของหนังมีมากจึงสามารถนำประเด็น อื่นๆ อย่างเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นของตัวละคร มาเป็นเนื้อเรื่องเสริมได้ เป็นต้น โดยฉากที่เกี่ยวกับความรัก สำหรับภาพยนตร์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มสีสัน และอรรถรสในการรับชมของภาพยนตร์ ให้มีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์แตกต่างไปจากสารคดี
 3. นักเขียนควรใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในบท ภาพยนตร์เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครอย่างลึกซึ้ง เมื่อเราจะเริ่มแตกบทภาพยนตร์ สักเรื่องหนึ่ง นักเขียนสามารถเขียนในมุมมองของตัวเอง และใส่ความเป็น ตัวเองเข้าไปในบทภาพยนตร์ได้ โดยตั้งคำถามกับตนเองว่า "ถ้าฉันอยู่ในเหตุการณ์นี้ ฉันจะทำอย่างไร" เพราะจะช่วยทำให้ บทมีความเป็นธรรมชาติ เข้าถึงอารมณ์อย่างสมจริง  4. เพื่อความสมจริง นักเขียนต้องเลียนบุคลิก ลักษณะของตัวละครที่สร้างขึ้น ในการสร้างสรรค์ตัวละคร แต่ละตัวขึ้นมานั้น นักเขียนต้องจินตนาการก่อนว่า ตัวละครที่ สร้างขึ้น ผ่านเรื่องราวใดมาบ้าง ทั้งร้ายและดี จากนั้นจึงดึง อารมณ์ และความรู้สึกที่ตัวละครควรจะรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ได้ ประสบพบเจอ มาสร้างเป็นบุคลิกลักษณะของตัวละคร นักเขียน จึงจะสามารถสร้างตัวละครนั้นๆ ได้อย่างสมจริงมากที่สุด
 5. ให้ภาพเล่าเรื่องแทนบทสนทนา ในบางฉาก ภาพที่แสดงให้ผู้ชมดู สามารถถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องมีประโยคสนทนาเลยก็ได้ เนื่องจาก การเขียนบทมักไม่นิยมเขียนบทพูดมากเกินไป เพราะผู้ชมอาจเสีย สมาธิจากการตั้งใจดูได้ โดยภาพยนตร์สั้นในรายวิชานี้ จะมีความยาวไม่เกิน 30 นาที  6. นักเขียนควรเลือกใช้คำพูดที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เหมาะสมกับบุคลิกลักษณะของตัวละคร คำพูดที่ดูดี เรียบหรูผิดธรรมชาติ ไม่ควรอยู่ในบท เพราะจะทำให้บทดูแปลก และไม่สมจริง ในทางที่ดีควรเลือกใช้ประโยคง่ายๆ ที่ เหมาะสมกับตัวละคร จะทำให้ภาพยนตร์ดูสมจริงมากกว่า  7. ไม่ควรมีเรื่องบังเอิญอยู่ในภาพยนตร์ ทุกการกระทำของตัวละคร ต้องมีที่มาที่ไป และตัวละครต้องมีเหตุผล ที่ทำให้ตัดสินใจกระทำสิ่งนั้นๆ จึงจะทำให้ภาพยนตร์น่าติดตาม นอกจากนี้ ความมีเหตุผลของตัวละครยังเป็นสิ่งที่แสดงถึง ความใส่ใจรายละเอียดในเนื้อเรื่องของผู้เขียนด้วย
 8. เกิดอาการนึกไม่ออก เขียนบทต่อไปไม่ได้ ถ้าหากนักเขียนไม่สามารถเขียนบทให้ดำเนินต่อไปได้ อาจเป็น เพราะนึกไม่ออก ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ เกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับ นักเขียนทั่วไป โดยสามารถแก้ปัญหานี้ ได้ด้วยการนำบท ภาพยนตร์ที่เขียนไว้มาปรึกษากับเพื่อน หรือคนในครอบครัว แล้วลองพูดบทสนทนาที่เขียนไว้ เพราะการนำบทมาพูดจะช่วย กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ นักเขียนมีความจดจ่อ อยากเขียนบทต่อไป นอกจากนี้เพื่อน หรือคนในครอบครัวอาจมีความคิดดีที่สามารถนำมาเขียนบท ได้อีกด้วย
 Copyright @ 2017-2018. by KruNatcha, All rights reserved.