2 4 3 1 เมนูกิจกรรม
ตัวอย่างบทภาพยนตร์
คลังสื่อการเรียนรู้
ขนาดภาพและมุมกล้อง
องค์ประกอบของบทภาพยนตร์
ปัจจัยพื้นฐานในการเขียนบท
 การเล่าเรื่องที่ดีควรมีปัจจัยพื้นฐานในการจัดทำบทภาพยนตร์ก่อน เพื่อให้การทำงานลื่นไหลไม่สะดุด ปัจจัยพื้นฐาน ประกอบไปด้วย 7 ปัจจัย 1. เรื่อง (Story) หมายถึง เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น อาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ โดยเวลาของเหตุการณ์ที่เกิด อาจจะสั้น ยาว หรือไม่รู้จบก็ได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่นำมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์ จะต้องมีปมขัดแย้ง (Conflict) และจุดหักเห (Plot Point) จะทำให้เกิดเรื่องราวเป็นบทภาพยนตร์ 2. แก่นเรื่อง (Theme) เป็นความคิดรวบยอด (Concept) ของเรื่อง อาจเป็นปรัชญา คำคม หรือบทความที่สอน เตือนสติมนุษย์ ซึ่งแก่นเรื่องจะต้องครอบคลุมเนื้อหาภาพยนตร์ทั้งเรื่อง โดยภาพยนตร์สั้นควรมีประเด็นเนื้อหาสำคัญ เพียงประเด็นเดียวที่นำเสนอ การเขียนแก่นเรื่องเปรียบได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง และมีความสำคัญต่อผู้เขียน บทภาพยนตร์เสมือนเป็นผู้ประกาศความคิดเห็นของตนไปยังผู้ชม มักเป็นประโยคใจความสำคัญเพียงประโยคเดียว 3. โครงเรื่อง (Plot) เป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าใคร พระเอก นางเอก มีนิสัยอย่างไร ต้องการสิ่งไหน ทำอะไร มีตัวร้าย มาเป็นอุปสรรค ขัดแย้งกันเรื่องอะไร จนเกิดจุดหักเห หักมุม ทำให้ไปสู่จุด (Climax) ของเรื่องแล้วจบแบบไหน อย่างไร มักมีความยาวครึ่งหน้ากระดาษหรือหนึ่งหน้ากระดาษเอสี่ 4. ตัวละคร (Character) มีหน้าที่ดำเนินเหตุการณ์จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่อง ตัวละครอาจเป็น คน สัตว์ สิ่งของหรือเป็นนามธรรมก็ได้ ตัวละครที่สร้างขึ้นมาบุคลิกนิสัย ความต้องการ อันก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละคร แบ่งออกเป็นตัวแสดงนำ ตัวแสดงสมทบ หรือตัวแสดงประกอบ ตัวละครทุกตัวจะต้องมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้เขียนบทภาพยนตร์ต้องเข้าใจตัวละครของตนเองอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถถ่ายทอดความคิดของตัวละครสู่ผู้ชมได้อย่าง ลึกซึ้งเช่นกัน ดังนั้นการกำหนดลักษณะตัวละครต้องโดดเด่นและไม่ธรรมดา 5. บทสนทนา (Dialogue) เป็นการโต้ตอบกันของตัวละคร มีหน้าที่บ่งบอกอารมณ์ นิสัย และความต้องการ ของตัวละครนั้นๆ ให้ผู้ชมรับรู้ โดยภาพยนตร์ที่ดีจะสื่อความหมายด้วยภาพมากกว่าคำพูด รวมถึงจะใช้คำพูดเท่าที่จำเป็น เช่น ใช้เสริมในเหตุการณ์ที่เข้าใจยาก เป็นต้น 6. ฉากและเหตุการณ์ (Scene and Sequence) หมายถึง เหตุการณ์ การแสดงของตัวละคร การรวมช็อต หลายๆ ช็อต ที่เชื่อมสัมพันธ์กัน คำอธิบายรายละเอียดของการแสดง เหตุการณ์ในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่อยู่ในเรื่อง โดยในสถานที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อาจมีช็อตหลายช็อตที่ต่อเนื่องกัน มารวมเป็นหนึ่งเหตุการณ์ เช่น ฉากพระเอกต้อง กลับจากโรงเรียนแล้วเดินขึ้นบนห้องนอน อาจมีการถ่ายทำตั้งแต่ช็อตพระเอกเปิดประตูบ้านแล้วเดิน เข้ามาในบ้าน ต่อไป เป็นช็อตพระเอกเดินขึ้นบันไดบ้าน ต่อด้วยช็อตพระเอกเอากระเป๋าวางแล้วล้มนอนบนเตียง โดยช็อตเหล่านี้ เมื่อนำมาเชื่อม รวมกันจะได้เป็นหนึ่งเหตุการณ์ 7. กลวิธีการเล่าเรื่องหรือมุมมอง (Point of View) ภาพยนตร์เป็นการเล่าเรื่อง ดังนั้นในการเล่าเรื่อง ผู้เขียน บทภาพยนตร์ต้องเลือกการเล่าว่าจะเป็นมุมมองของผู้ใด ตัวละครที่ 1 หรือ ตัวละคร 1 เล่าถึงตัวละครที่ 2 หรืออาจจะเป็น ผู้เขียนบทเป็นคนเล่า เพราะ รู้เรื่องทุกอย่างดี โดยให้คำนึงถึงเหตุการณ์หนึ่ง แล้วผู้เขียนบทมองเหตุการณ์นั้น จากด้านไหน ดังนั้น ก่อนการเขียนบทภาพยนตร์ ผู้เขียนจึงต้องกำหนดมุมมองการเล่าเรื่องก่อนว่าเรื่องราวนั้นเหมาะสมกับการเล่าเรื่อง แบบใด เป็นเรื่องราวที่ผู้ชมควรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดหรือเรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกที่มาจากภายในของตัวละคร ซึ่งมุมมองทั้งสองนี้จะทำให้อารมณ์และระดับความรู้สึกแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ละครโทรทัศน์ที่โด่งดังหลายเรื่อง บางครั้งอาจมีบทที่เกี่ยวกับเรื่องราวของนางเอก เล่าถึงเรื่องราวเพื่อนสนิทของเธอ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนว่ากำลังติดตาม บันทึกของนางเอกอยู่ เป็นต้น บทภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ใช้มุมมองนี้เป็นกลวิธีในการนำเสนอเรื่อง
บทภาพยนตร์
 บทภาพยนตร์ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. โครงเรื่อง (Plot) เป็นการเล่าเหตุการณ์ ว่าใคร พระเอก นางเอกมีนิสัยอย่างไร ต้องการอะไร ทำอะไร มีตัวร้าย มาเป็นอุปสรรค ขัดแย้งกันด้วยเรื่องใด 2. บทภาพยนตร์ (Screenplay) ประกอบด้วยเหตุการณ์ หรือตอน (Sequence) และฉาก (Scene) บอกถึง ตัวละคร บทพูด คำอธิบายฉากโดยผู้เขียนบท จะเป็นผู้เขียนโครงเรื่อง และบทภาพยนตร์ 3. บทถ่ายทำ (Shooting Script) เป็นบทที่ตากล้องกับผู้กำกับร่วมกันนำบทภาพยนตร์มาระบุเรื่องสำคัญหลักๆ เพิ่มเติม ใช้ประกอบด้วยเหตุการณ์ ฉาก ช็อต บอกขนาดภาพ และมุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การเชื่อมช็อต และแอ็คชั่น ของนักแสดงรวมไปด้วย โครงสร้างเรื่อง
โครงสร้างการเขียนบท
 1. จุดเริ่มต้น (Beginning) เป็นช่วงของการเปิดเรื่อง โดยจะต้องมีการแนะนำ (Introduction) ปูเนื้อเรื่อง เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ ช่วงของการพัฒนาเรื่อง 2. การพัฒนาเรื่อง (Developing) การดำเนินเรื่องผ่านเหตุการณ์เดียว หรือหลายเหตุการณ์ เนื้อเรื่องจะมี ความซับซ้อนมากขึ้น โดยในช่วงนี้จะประกอบไปด้วยการสร้างเงื่อนไข (Suspense) การสร้างวิกฤตกาล (Crisis) และจุดวิกฤตสูงสุด (Climax) 3. จุดสิ้นสุด (Ending) ช่วงนี้จะเป็นผลสรุปของเรื่อง โดยจุดจบ แบ่งออกเป็นแบบสมหวัง (Happy Ending) ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และแบบผิดหวัง (Sad Ending) ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ
ปัจจัยสำคัญของโครงสร้างบท
 การเขียนบทภาพยนตร์ที่ดี ควรมีเรื่องราวเสริมมาร้อยในเรื่องราวหลักให้ได้ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมของผู้ชม โดยมีปัจจัยสำคัญของโครงสร้างบท ดังต่อไปนี้ 1. แนะนำ (Introduction) คือ การแนะนำเหตุการณ์ สถานการณ์ สถานที่ ตัวละครสิ่งแวดล้อม และเวลา 2. สร้างเงื่อนไข (Suspense) คือ การกระตุ้นให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างลึกลับ มีเงื่อนไข มีปมผูกมัดความขัดแย้ง ทำให้ผู้ชมเกิดความสงสัยและสนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอาจเกิดเหตุการณ์พลิกผันหรือจุดหักเห ซึ่งการเขียนจุดหักเห ควรเขียนโครงสร้างบทภาพยนตร์ให้เห็นภาพทั้งหมดของเรื่องราวชัดเจนขึ้นมาก่อน จะช่วยทำให้แทรกเหตุการณ์หักเห ลงในเรื่องราวได้เหมาะสม ไม่ไปกระจุกอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่องมากเกินไป และเพิ่มระดับความเข้มข้นไปจนถึง บทสรุปของเรื่องราวได้อย่างราบรื่น 3. สร้างวิกฤตกาล (Crisis) คือ เป็นเหตุการณ์ที่คาดว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง และอันตราย กระทบกับ ตัวละครเป็นกลุ่ม ชุมชน สังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ เกิดขึ้นกะทันหัน หรือเตือนเล็กน้อย บางครั้งจุดวิกฤตหมายถึง เวลาแห่งการทดสอบ (Testing Time) ของตัวละคร การเผชิญปัญหาทำให้ตัวละครต้องหาทาง แก้ไข หาทางออก แต่ถ้าหาก ตัวละครวนเวียนอยู่กับปัญหานานมากเกินไป จะทำให้ผู้ชมรู้สึกหนักและเบื่อขึ้นได้ ดังนั้นควรที่จะมีการกระตุ้นจาก เหตุการณ์อื่นมาแทรกด้วย 4. จุดวิกฤตสูงสุด (Climax) คือ เหตุการณ์ต่อจากจุดหักเห ที่ก้าวเข้ามาถึงจุดเข้มข้นสำคัญสูงสุดของเหตุการณ์ใน บทภาพยนตร์ หรือเป็นเหตุการณ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาถึงจุดจบ ตัวละครต้องเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งสุดท้ายและถูกบีบบังคับ กดดันสูงสุด ทำให้มีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ก่อนเข้าสู่จุดคลี่คลายเรื่องที่เป็นฉากสั้นๆ หรือช็อตเดียวในตอนจบเรื่อง 5. ผลสรุป (Conclusion) คือ ข้อสรุปของเรื่องราวทั้งหมด โดยการจบเรื่องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความประทับใจ และเป็นความทรงจำอย่างยาวนานต่อผู้ชม ผลสรุปของภาพยนตร์แบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่ การจบเรื่องแบบปิด (Closed Narrative/Ending) คือ การจบเรื่องที่มีบทสรุปชัดเจน ทำให้เกิดความกระจ่างต่อผู้ชม และการจบเรื่องแบบเปิด (Open Narrative/Ending) คือ การจบเรื่องที่มีบทสรุปไม่ชัดเจน ทิ้งความหมาย ความคิด ไว้ให้ผู้ชมนำกลับไปคิดเอง
 Copyright @ 2017-2018. by KruNatcha, All rights reserved.