2 4 3 1 เมนูกิจกรรม
ตัวอย่างบทภาพยนตร์
คลังสื่อการเรียนรู้
ขนาดภาพและมุมกล้อง
ขนาดภาพและมุมกล้อง (Shot Size and Camera Angle)
คลิปวิดีโอ เรื่อง ขนาดภาพและมุมกล้อง ขนาดภาพ (Shot Size)  การสื่อความหมายและการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของภาพ มีปัจจัยหลายสิ่งที่สำคัญทำให้ภาพสื่อความหมายได้ชัดเจน เช่น ขนาดและระยะภาพ มุมกล้องและการเคลื่อนกล้อง สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ตำแหน่งช่างภาพและผู้กำกับ ต้องมีความรู้ เรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐานการใช้กล้องในการสร้างภาพยนตร์สั้น โดยได้แบ่งกลุ่มของขนาดภาพพื้นฐาน ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มภาพขนาดไกล กลุ่มภาพขนาดปานกลาง และกลุ่มภาพขนาดใกล้ ซึ่งในแต่ละกลุ่มอาจมีขนาดภาพย่อยเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้  1. ภาพขนาดไกลมาก Extreme Long Shot (ELS) เป็นภาพขนาดกว้างสุด ไกลสุด มักใช้ร่วมกับเลนส์ Wide เพื่อนำเสนอบรรยากาศของสถานที่ ให้เห็นองค์ประกอบทั้งหมดในฉากนั้น เป็นการสื่อความหมายที่แสดงถึงความอลังการ บ่งบอกถึงความไม่แน่นอน น่าสงสัย ความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา
 2. ภาพขนาดไกล Long Shot (LS) จะใกล้กว่าภาพขนาดไกลมาก แต่ยังมีมุมมองครอบคลุมบริเวณกว้างอยู่ เห็นผู้แสดงเต็มตัวและบรรยากาศรอบข้าง ทางด้านภาพยนตร์มักใช้ในการเปิดฉากเริ่มต้นและการเล่าเรื่อง ไม่เน้นผู้แสดง
 3. ภาพขนาดระหว่างระยะไกลและระยะปานกลาง Medium Long Shot (MLS) เป็นภาพกว้างสุดในกลุ่ม ภาพขนาดกลาง ขนาดภาพอยู่ที่ประมาณหน้าแข้งของผู้แสดงใช้เชื่อมระหว่างภาพขนาดไกลและภาพขนาดใกล้ ใช้ถ่ายตอนหมู่คณะหลายคน
 4. ภาพขนาดปานกลาง Medium Shot (MS) เป็นภาพขนาดกลางที่นิยมใช้ทั่วไปในภาพยนตร์และงานวิดีโอ เพราะขณะดำเนินเรื่องผู้แสดงจะอยู่ในระดับสายตา ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นสีหน้า อากัปกริยาและการเคลื่อนไหว ของผู้แสดงได้ดี รวมถึงยังใช้เป็นภาพเชื่อมต่อระหว่างภาพขนาด Long Shot กับ Close Up
 5. ภาพขนาดใกล้ปานกลาง Medium Close Up (MCU) เป็นภาพขนาดใกล้ที่มองเห็นผู้แสดงตั้งแต่ระดับไหล่ ขึ้นไป ทำให้ผู้ชมสามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ของผู้แสดงได้ชัดเจน มักใช้ในฉากที่ต้องการแสดงให้เห็นอารมณ์ทางสีหน้า ของผู้แสดง แต่ไม่นิยมใช้ในช็อตที่ผู้แสดงมีการเคลื่อนไหวมากๆ เพราะผู้แสดงมีโอกาสหลุดเฟรมได้ง่าย
 6. ภาพขนาดใกล้ Close Up (CU) เป็นภาพขนาดใกล้ที่มีระยะตั้งแต่ปลายคางถึงบนสุดของศีรษะ ทำให้เห็นใบหน้าของผู้แสดงชัดเจนและให้รายละเอียดได้มากกว่า มักใช้เน้นอารมณ์ ความรู้สึกตัวละคร เช่น โกรธ เศร้า ดีใจ เป็นต้น
 7. ภาพระยะใกล้มาก Extreme Close Up (ECU) เป็นภาพระยะใกล้ที่สุด เน้นความรู้สึกมากว่าภาพขนาด Close Up แสดงรายละเอียดเฉพาะจุดของผู้แสดง เช่น ดวงตา ปาก จมูก หรือวัตถุสิ่งของเท่านั้น เป็นต้น
 มุมกล้อง (Camera Angle)  การสร้างภาพยนตร์ได้แบ่งกลุ่มของมุมกล้องพื้นฐาน ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มุมสูง (High Angle) มุมระดับ สายตา (Eye Level) มุมต่ำ (Low Angle)
มุมสูง ระดับสายตา มุมต่ำ
 นอกจาก 3 กลุ่ม พื้นฐานแต่ละกลุ่มก็แบ่งออกได้และเห็นใช้กันหลักๆ ดังต่อไปนี้ 1. มุมกล้องระดับสายตานก (Bird’s Eye View) เป็นการตั้งกล้องในตำแหน่งเหนือศีรษะโดยตรง เหมือนนก ที่มองดิ่งลงมายังพื้นดิน บ่งบอกความรู้สึกสิ้นหวังหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้
 2. มุมกล้องระดับสูง (High Angle) เป็นการตั้งกล้องให้สูงกว่าวัตถุ มุมนี้ทำให้สามารถเห็นเหตุการณ์ทั่วถึง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เหมาะสำหรับฉากที่ต้องการให้เห็นความงามของทัศนียภาพ จึงนิยมใช้คู่กับภาพ Long Shot แต่ในมุมนี้ บางครั้งยังให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่ถ่ายดูเล็กลง ดูต่ำต้อย ไร้ค่า ไร้ความหมาย สิ้นหวัง หรือพ่ายแพ้ด้วย
 3. มุมกล้องระดับสายตา (Eye Level) เป็นการตั้งกล้องในระดับเดียวกับสายตาของผู้แสดง เป็นมุมกล้องที่มักใช้ บ่อยที่สุด การนำเสนอในมุมมองนี้ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเหมือนดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง มีความเสมอภาคเป็นกันเอง มากกว่ามุมกล้องระดับอื่นๆ
 4. มุมกล้องระดับต่ำ (Low Angle) กล้องจะตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าสิ่งที่ถ่าย เวลาบันทึกต้องเงยกล้องขึ้น ภาพใน มุมนี้จะให้อิทธิพลความรู้สึกของผู้ชมว่าสิ่งที่ถ่ายนั้นมีอำนาจ มีพลัง ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม หรือแสดงถึงความสง่างาม มีชัยชนะ จึงนิยมใช้กับภาพโบสถ์วิหาร ตึกสูง การเคลื่อนพลของกองทัพ นักรบที่สูงใหญ่กำยำ
 5. มุมสายตาหนอน (Worm’s Eye View) คือ มุมที่ตรงข้ามกับมุมสายตานก (Bird’s Eye View) กล้องเงยตั้งฉาก 90 องศา กับนักแสดงบอกตำแหน่งของคนดูอยู่ต่ำสุด มองเห็นพื้นหลังเป็นเพดานหรือท้องฟ้า
 6. มุมเอียง (Oblique / Dutch Angle) เป็นภาพที่ถ่ายทำโดยไม่ยึดถือแนวขนานกับเส้นขอบฟ้า (Horizontal Line) ลักษณะภาพจะลาดเอียงไปทางใดทางหนึ่ง บางครั้งก็ใช้แทนสายตาตัวละคร เพื่อบอกถึงอาการเสียศูนย์หรือความตึงเครียด การเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง และในฉากที่บอกถึงความรุนแรง ภาพลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความรู้สึก น่ากระวนกระวายได้อย่างชัดเจน
 7. มุมกล้องแบบเข้าไปมีส่วนร่วม มุมกล้องแบบพอยท์ออฟวิว (Point of View Camera Angle / POV) หรือเรียกอีกอย่างว่า มุมข้ามไหล่ (Over Shoulder Shot) เป็นมุมที่ตั้งกล้องไว้ทางซ้ายหรือขวาของคู่สนทนา ถ่ายเฉียงผ่านไหล่ ของคู่สนทนา เห็นหน้าของคนที่แสดงหรือคนที่กำลังพูดแสดง โดยไม่มีไหล่และบางส่วนของศีรษะคู่สนทนาเป็นฉากหน้า ให้รู้ว่า กำลังคุยกับผู้อื่นและทำให้ภาพมีมิติ มีความลึก
 โดยมีการเปลี่ยนโฟกัส (Shift Focus) เป็นการปรับความคมชัดของภาพจากจุดหนึ่งที่ผู้ชมกำลังให้ความสนใจ ไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนความสนใจของผู้ชมตามที่ผู้กำกับต้องการ
การเปลี่ยนโฟกัสจากจุดแรกที่ผู้ชมสนใจ
มาเป็นอีกจุดหนึ่ง
 ดังนั้น การสร้างภาพยนตร์สั้นเมื่อต้องสื่อความหมายให้ผู้ชมรับรู้ถึงอารมณ์ของคนสร้างภาพยนตร์สั้น เทคนิคการถ่ายทำ เรื่องของขนาดภาพและมุมกล้องเป็นสิ่งสำคัญตัวหนึ่ง โดยขนาดภาพที่นิยมใช้ในภาพยนตร์สั้นมี 7 ขนาด คือ ขนาดไกลมาก ขนาดไกล ขนาดไกลปานกลาง ขนาดปานกลาง ขนาดใกล้ปานกลาง ขนาดใกล้ และขนาดใกล้มาก ส่วนมุมกล้องที่นิยมใช้ก้น มี 7 มุม ได้แก่ มุมกล้องระดับสายตานก มุมกล้องระดับสูง มุมกล้องระดับสายตา มุมกล้องระดับต่ำ มุมสายตาหนอน มุมเอียง และมุมกล้องแบบพอยท์ออฟวิว
 Copyright @ 2017-2018. by KruNatcha, All rights reserved.